จะดีแค่ไหน ถ้าเราจะมีเครื่องมือที่จะช่วยลดความผิดพลาดในโครงการก่อสร้างลงได้ ?
ความผิดพลาดในการก่อสร้างอาคารนั้นเราสามารถเจอได้ทุกโครงการ เพราะการก่อสร้างโครงการหนึ่งนั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายออกแบบ ฝ่ายประมาณราคา ฝ่ายก่อสร้าง ฝ่ายตรวจสอบ รวมถึงฝ่ายผู้ใช้งานอาคารซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งความผิดพลาดนั้นอาจนำมาสู่การต้องเพิ่มทรัพยากรทั้งเวลาและเงินทุนเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น
กระบวนการทำงานแบบเดิมนั้นแต่ละฝ่ายจะทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มของตนเองแล้วค่อยส่งต่อข้อมูลของโครงการกันเป็นทอดๆ ซึ่งอาจมีการตกหล่นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้ค่อนข้างสูง และนอกจากนั้นกระบวนส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบ 2 มิติ ทำให้ต้องอาศัยการจินตนาการของผู้เกี่ยวข้องซึ่งไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ครบถ้วน
ปัจจุบันจึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยทำให้ข้อมูลทุกกระบวนการของโครงการก่อสร้างอยู่ภายในแบบจำลอง 3 มิติแค่แบบจำลองเดียว นั้นคือที่เราเรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling ซึ่งเริ่มมีการใช้งานในประเทศชั้นนำหลายประเทศ หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้าง แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ BIM นั้นเป็นยังไง เราจะมาทำความเข้าใจไปด้วยกัน
BIM คืออะไร ?
หลายคนคิดว่า BIM คือโมเดล 3 มิติ แต่จริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้น BIM จะพูดถึงกระบวนการทำงานเป็นหลัก นั่นคือ “BIM is a process” เป็นกระบวนการทำงาน ที่เริ่มจากสร้างโมเดล 3 มิติ และค่อยๆใส่ข้อมูลที่ต้องการนำไปใช้ลงไปในโมเดลนั้น เช่น ขนาด, วัสดุ, ค่าพลังงาน, และคุณสมบัติต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงมีความแตกต่างระหว่างการทำโมเดลอาคารสมัยก่อนซึ่งเป็นเพียงการบอกขนาดอาคาร ไม่มีข้อมูลอื่นใดอยู่ในแบบจำลอง กับการทำโมเดลอาคารด้วย BIM ที่กำลังนิยมกันในปัจจุบัน
อาจพูดได้ว่า BIM คือโมเดลที่มีการนำข้อมูลมาใส่และมีการนำข้อมูลนั้นไปใช้ในการบริหารจัดการหรือการทำบางอย่างเพิ่มเติม เช่น เอาไปออกแบบอาคาร หรือเอาไปทำแบบก่อสร้างที่มีการทำลำดับการทำงาน
จะเห็นว่าการใช้ BIM ที่ครบถ้วนต้องมี 3 องค์ประกอบหลักๆ คือ 1.มีโมเดล 2.มีข้อมูลที่อยู่ในโมเดลและ 3.มีการนำไปใช้ในบางส่วนหรือทุกส่วนของ Building life cycle
แล้วทำไมถึงต้องใช้ BIM ? กระบวนการทำงานแบบเก่ามันไม่ดียังไง ?
กระบวนการทำงานแบบเก่านั้นเป็นแบบ Outside in เราต้องใช้เครื่องมือหลากหลายแพลตฟอร์มมาประกอบรวมร่างกันในแต่ละขั้นตอนการก่อสร้างจนได้อาคารหนึ่งหลัง การประกอบรวมร่างกันด้วยการทำงานแบบเก่าทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลบ่อยครั้ง ทั้งจากการประสานงานหรือความผิดพลาดบางประการของแต่ละกระบวนการย่อย
ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานแบบเก่า จึงมีเกิด BIM process ขึ้นมา โดยการมองย้อนกลับเพื่อแก้ปัญหาของกระบวนการ นั้นคือเป็นแบบ Inside out เราใช้ของหนึ่งอย่างมาสกัดมากลั่นออกมาเป็นกระบวนทำงานแต่ละส่วน คือการทำให้ถูกตั้งแต่เริ่มต้นแล้วกระจายออกไปในแต่ละส่วน