“รถอารี” คือ ?
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในขณะนี้ ทำให้เกิด “รถอารี” รถส่งของบังคับทางไกล ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการใกล้ชิดหรือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ช่วยให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานมีความเครียดลดลง คลายความกังวล และลดความเหนื่อยล้า นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อชุด PPE ที่มีราคาสูงลงได้อีกด้วย
“รถอารี” เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาโดย MTEC, สวทช. และ บจก.บุญวิศวกรรม ซึ่งได้ทำการผลิตและส่งมอบไปยังโรงพยาบาลบางส่วนแล้วและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ดังนั้น สวทช. จึงขยายผลโดยเพิ่มจำนวนการผลิต“รถอารี” ร่วมกับองค์กรเอกชนที่ยินดีร่วมสนับสนุน
บริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษาและสถาปนิก จำกัด จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนทุนเพื่อการผลิตจากพันธมิตร เช่น Department of Architecture Co., บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด, สถาบันอาศรมศิลป์, บริษัท เดอะ อัตตา จำกัด และผู้ไม่ประสงค์ออกนามอีกจำนวนหนึ่ง นับถึงขณะนี้ สวทช.ได้ร่วมกับผู้ผลิต และผู้บริจาค ส่งมอบ “รถอารี” ไปแล้วเป็นจำนวน 9 คัน และอยู่ในขั้นตอนดำเนินการผลิตอีกกว่า 10 คัน แต่ก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอ ทาง สวทช. ยังได้รับคำขอรับบริจาค “รถอารี” เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลเพื่อใช้งานในจุดที่ยังมีความต้องการอีก
ความเป็นมาของ…รถอารี
จุดเริ่มต้นมาจากการที่ MTEC, สวทช. มีงบประมาณ 100,000 บาท ให้กับทีมวิจัย โดย ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ และ ดร.สิทธา สุขกสิ ได้มาปรึกษากับ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการด้านพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic) ทั้ง 3 ท่านจึงร่วมกันทำวิจัยสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019
เมื่อได้สอบถามความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์พบว่า อยากให้มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยได้ในบางกิจกรรม เช่น การส่งอาหาร ยา อุปกรณ์/เครื่องใช้ต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยความดันลบ หรือแม้กระทั่งการส่งเครื่องมือ/อุปกรณ์ ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในห้องความดันลบ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะต้องสามารถช่วย …
- ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัส/ดูแล ผู้ป่วยติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
- ลดการใช้ชุด PPE ที่มีราคาค่อนข้างสูง
- ลดความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย
หลังจากได้โจทย์มาแล้ว นักวิจัยทั้ง 3 ท่านได้นำแนวคิดที่ว่า “ออกแบบอย่างไร ให้โดนใจผู้ใช้” หรือ ”Empathy in Design” ทำให้ได้รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน ดังนี้
- ผู้ใช้งานมีช่วงอายุที่หลากหลาย
- ต้องใช้งานง่าย แม้ไม่เคยมีประสบการณ์การใช้งานมาก่อน
- ต้องมีความทนทาน การบำรุงรักษาง่าย ใช้วัสดุน้อยชิ้น
- ต้องสามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด
- ต้องมีขนาดเล็ก กระทัดรัด ง่ายต่อการควบคุมในพื้นที่จำกัด และจัดเก็บได้ง่าย ไม่เปลืองพื้นที่
- การชาร์จไฟหรือชนิดของแบตเตอรี่ ต้องทำได้ง่ายหรือหาทดแทนได้สะดวก เมื่อถึงกำหนดเวลา
- ต้องสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอื่นได้ หลังช่วง pandemic
- ใช้งบประมาณน้อย เพื่อให้สะดวกในการขออนุมัติหรือขอรับบริจาค
- ต้องไม่ส่งสัญญาณรบกวนต่อเครื่องมือแพทย์และระบบโรงพยาบาล ในทางกลับกันก็ต้องไม่ถูกรบกวนการใช้งานจากเครื่องมือแพทย์และระบบโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน
เมื่อได้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแล้ว ทีมวิจัย MTEC, สวทช. ร่วมกับ บจก.บุญวิศวกรรม ทำการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และ สวทช. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทดสอบการเข้ากันได้ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน IEC 60601-1-2 โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และนี่ถือเป็นจุดกำเนิด “รถอารี” จนสามารถผลิตและส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกลาง 1 คัน และสถาบันประสาทวิทยา 2 คัน ในช่วงการระบาดครั้งแรกของ Covid-19 และในการระบาดครั้งนี้ ได้ทำการผลิตและส่งมอบ “รถอารี” ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วไม่น้อยกว่า 9 คัน